ดูเหมือนว่าประเด็น “ เมื่อสามีมีกิ๊ก ” จะเป็นประเด็นยอดฮิตเสียเหลือเกิน ไม่ว่าจะไปที่ไหน ๆ กันมักจะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเล่าสู้กันฟัง ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาหลายยุคหลายสมัย เกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วงสังคม ทุกชนชั้น และดูเหมือนว่าจะเป็นที่นิยมมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่มีสถานะใหม่ทางสังคมที่ชื่อว่า “ กิ๊ก ” เกิดขึ้นมา แล้ว “ กิ๊ก ” นี้เป็นใครหนอ ... ไม่ยากค่ะท่านผู้อ่าน หาได้ตามแผงหนังสือทั่วไป ที่มีผู้รู้หลายท่านมาให้นิยามกัน รวมๆ แล้วประมาณได้ว่า “ กิ๊ก ” นี่ก็เป็นมากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน เรียกว่าเดินทางสายกลาง เดี๋ยวนี้แฟนคนที่สอง คนที่สาม เมียน้อย เมียมาก ก็ผันตัวเองมาใช้คำว่ากิ๊กกันหมด เพราะคำว่า “ กิ๊ก ” มันฟังดูคิกขุน่ารักกว่ากันเยอะ และคุณกิ๊กนี่เองก็มักจะสร้างปัญหาปวดหัวใจกับใครหลายๆ คน รวมถึงตัวผู้เขียนด้วย เดี๋ยวก่อน อย่างพึ่งตีความเช่นนั้นค่ะที่บอกว่ามีส่วนร่วมในการปวดหัวด้วยก็เนื่องมาจากว่า บ่อยครั้งที่ผู้เขียนเองมักจะต้องเปลี่ยนหน้าที่จากนายทหารพระธรรมนูญไปเป็นศิราณีจำเป็น ก็ใช้มาแล้วทั้งลูกปลอบ ลูกโยน ทั่งบู๊และบุ๋น เรียกว่าเอาความรู้ที่เรียนมาทั้งเรื่องกฎหมาย หลักรัฐศาสตร์ หลักจิตวิทยามาใช้หมด ดังนั้น เมื่อสบโอกาส ได้รับความไว้วางใจจากสำนักงานทหารเรือหญิงให้เขียนบทความ ก็เห็นว่าประเด็นยอดฮิตนี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ผู้หญิงด้วยกัน
การหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่ง
การหย่านี้ได้รับการยอมรับในสังคมมาพร้อม ๆ กับการสมรส เพราะเมื่อคนเราสมัครใจมาอยู่ร่วมกัน หากต่อไปอยู่ด้วยกันไม่ได้ก็ต้องมีการแยกกันหรือหย่ากัน แม้แต่ในกฎหมาย ได้มีการกำหนดเรื่องการหย่าไว้ตั้งแต่สมัยกฎหมายลักษณะผัวเมีย ในบทที่ ๖๗ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ภริยาสามีมิชอบเนื้อพึงใจกัน เขาจะหย่ากันไซร้ตามใจเขา เหตุว่าเข้าทั้งสองนั้นสิ้นบุญกันแล้วจะจำใจให้อยู่ด้วยกั้นนั้นมิได้ ” ผู้เขียนประทับใจข้อความในบทบัญญัตินี้มาก เพราะเป็นสัจจะธรรมจริง ๆ เมื่อคนเราอยู่ด้วยกันไม่ได้ก็อย่าพยายามฝืน การหย่าอาจจะเป็นทางออกทางสุดท้ายกับคู่สมรส แต่ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเมื่อปัญหาที่มีอยู่มันไม่สามารถแก้ไขได้จริง ๆ ซึ่งการหย่านั้นสามารถทำได้สองวิธี คือ การหย่าโดยความยินยอมและการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล
การหย่าโดยความยินยอม คือ การที่คู่สมรสตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ระหว่างตนเองในฐานะสามีภรรยาโดยการตกลงกัน เป็นการหย่าที่ไม่มีคู่สมรสฝ่ายใดทำความผิดต่อหน้าที่การเป็นสามีภรรยาการหย่าโดยความยินยอม เป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่คู่สมรสแยกทางจากกันอย่างสันติและเป็นมิตรเนื่องจากในการขอหย่าคู่สมรสไม่ต้องให้เหตุผลหรือแจกแจงความผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งหากมีการฟ้องร้องเป็นคดี คู่สมรสจำเป็นต้องเปิดเผยเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่บางเรื่องอาจจะน่าอับอาย หรือบางเรื่องอาจเป็นความลับเฉพาะสามีภรรยา การหย่าแบบนี้เกิดจากความต้องการของทั้งสองฝ่ายทำให้สามารถประหยัดเงินและเวลาในการไปฟ้องร้อง ทั้งยังไม่ทำให้เรื่องพิพาทในครอบครัวยืดเยื้อจนกลายเป็นผลร้ายต่อความรู้สึกของ ทั้งสองฝ่ายและความรู้สึกของเด็ก อีกทั้งคู่สมรสสามารถตกลงกันก่อนหย่าในเรื่องทรัพย์สิน อำนาจปกครองและ อุปการะเลี้ยงดูบุตร การหย่าโดยความยินยอมนี้ยังเน้นถึงความรับผิดชอบ มากกว่าจะไปตัดสินว่าใครถูกใครผิดซึ่งบทกฎหมายต้องการส่งเสริมให้คู่สมรสตรึกตรองอย่างรอบคอบ และตกลงกันเองอย่างมีเหตุมีผล เพื่อ ให้ผลของการหย่าออกมาอย่างเรียบร้อยโดยสันติวิธีที่สุด
ลงลายมือชื่ออีกสองคน นเดียวก็ไม่ได้เพราะหากหนังสือหย่าไม่มีพยานถูกต้องตามกฎหมาย หนังสือหย่านั้นก็ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย กล่าวคือชายหญิงคู่นั้นก็ยังคงเป็นสามีภรรยากันอยู่ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๓๙ / ๒๕๒๒ ) ส่วนการจดทะเบียนหย่า กฎหมายมิได้บังคับว่าสามี ภรรยา ต้องไปแสดงความยินยอมย่าขาดกันโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนด้วยตนเองเหมือน เช่นการจดทะเบียนสมรสกฎหมายกำหนดให้เพียงแต่นำสัญญาหย่าหรือหนังสือหย่าไปจดทะเบียน เพื่อลบทะเบียนสมรสเท่านั้น สามีภรรยาอาจตั้งตัวแทนให้ไปจดทะเบียนหย่าแทนตนได้ การหย่าโดยความยินยอมนี้เป็นการหย่าไม่มีความสลับซับซ้อนมากนัก กฎหมายต้องการ เพียงแค่ความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายที่ไม่ประสงค์จะใช้ชีวิตร่วมกันสามีภรรยาอีกต่อไป แต่ถ้าหากไม่ สามารถตกลงกันได้หรือฝ่ายในฝ่ายหนึ่ง
ไม่ยินยอมที่จะหย่าก็สามารถใช้
วิธีการหย่าโดยอาศัยคำพิพากษาของศาลได้
การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล หมายถึงการที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งหยิบยกเอาเหตุหย่าตามที่กฎหมายกำหนดไว้มาฟ้องขอให้ ศาลมีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเหตุหย่านี้กฎหมายได้กำหนดเฉพาะกรณีที่ถือว่าเป็นความร้ายแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อีกต่อไป ไม่ใช่เรื่องลิ้นกระทบฟันธรรมดาทั่วไปโดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดเหตุฟ้องหย่าไว้ ๑๐ เหตุ ตามมาตรา ๑๕๑๖ ดังนี้
๑. สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา หรือภริยามีชู้
๒ . สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญา หรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
ก . ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
ข . ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป
ค . ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีมา คำนึงประกอบ
๓ . สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างการหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือ บุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างร้ายแรง
๔ . สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี
๔ . ๑ สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่ง มิได้มีส่วนก่อให้เกิดความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร
๔ . ๒ สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข ตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งศาลเป็นเวลาเกินสามปี
๕ . สามีหรือภริยาที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
๖ . สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินสมควรในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
๗ . สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้
๘ . สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ
๙ . สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่อร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้
๑๐ . สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วม ประเวณีได้
เหตุฟ้องหย่าตามที่มาตรา ๑๕๑๖ กำหนดไว้นี้ กฎหมายได้แยกแยะเหตุไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่เหตุที่ถือว่าเป็นการประพฤติมิชอบที่ร้ายแรงที่สุด คือการที่สามีมีภริยาน้อย ภริยามีชู้ การทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ เรื่อยไปจนถึงการประพฤติชั่วโดยทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นการสะดวกที่จะปรับใช้กฎหมายให้ตรงกับเรื่องหรือปัญหาที่เกิดขึ้น ต่างจากกฎหมายของบางประเทศที่กำหนดเหตุฟ้องหย่าไว้กว้างๆ เช่น ประเทศอังกฤษ กำหนดเหตุฟ้องหย่าไว้เพียงเหตุเดียวคือ “ การสมรสได้แตกสลายจนไม่อาจกลับคืนมาได้อีกแล้ว (the marriage has broken down irretrievably” โดยกำหนดข้อเท็จจริงที่แสดงว่าการสมรสได้แตกสลายไว้ ๕ ประการ คือ การมีชู้ การประพฤติปฏิบัติที่ไม่พึงคาดหวังว่าจะอยู่ร่วมกันได้อีกต่อไป การทิ้งร้างอย่างน้อย ๒ ปี การแยกกันอยู่อย่างน้อย ๒ ปี โดยอีกฝ่ายยินยอมให้หย่า และการแยกกันอยู่อย่างน้อย ๕ ปี ๓ เหตุหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยนี้ใช้บังคับในทุกกรณีที่มีการหย่าในศาลเยาวชนและครอบครัว หรือในศาลจังหวัด และไม่ว่าสามีภริยาจะสมรสกันตามกฎหมายใด จะเป็นการสมรสตามกฎหมายเก่าหรือกฎหมายใหม่ก็ตาม ก็ใช้เหตุฟ้องหย่าตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕๑๖ นี้
ไขปัญหาเมื่อสามีมีกิ๊ก
ทุกครั้งที่ผู้เขียนต้องตอบคำถามปัญหา “ กิ๊ก ” ผู้เขียนมักจะแนะนำให้มีการคุยกันในครอบครัวก่อน เพราะเรื่องสามีภรรยาเป็นเรื่องของคนสองคน การมีคนที่สาม คนที่สี่ จะพลอยทำให้เรื่องยุ่งยากไปกันใหญ่ เมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายภรรยายืนยันว่าจะไม่ทนอีกต่อไป ผู้เขียนจึงจะแนะนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการหย่า โดยวิธีการที่ไปตกลงหย่ากับสามีเสียก่อน ถ้าหากฝ่ายสามีไม่ย่อม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามฝ่ายภรรยาก็ต้องไปฟ้องหย่าต่อศาล โดยอ้างเหตุตามมาตรา ๑๕๑๖ ( ๑ ) คือกรณีที่สามีอุปการะเลี้ยงดู
* Section 1 (2) Matrimoniai Causes Act 1973.
เหตุข้างต้นนี้ก็เกิดมาจากการที่สามีประพฤติตนนอกใจภรรยาตนเองหรือไปมีกิ๊กใหม่ไฉไลกว่าภรรยาตน ซึ่งเหตุนี้กฎหมายของทุกๆ ประเทศทั่วโลกถือเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ทั้งสิ้น เพราะถือเป็นการประพฤติมิชอบที่ร้ายแรงที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายไทยกำหนดให้ภรรยาฟ้องหย่าสามีได้ในกรณีที่ไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภรรยา เพียงแค่สามีไปร่วมประเวณีกับหญิงอื่นแต่มิได้อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ยังไม่ได้ถือเป็นเหตุหย่าตามมาตรานี้ ต่างจากกรณีสามีสามารถฟ้องหย่าภรรยาได้หากภรรยามีชู้ ซึ่งหมายถึงการที่ภรรยาสมัครใจร่วมประเวณีกับชายอื่นที่มิใช่สามีของตน กฎหมายในมาตรานี้เกิดจากวัฒนธรรมและสภาพสังคมที่ยอมรับสถานะของผู้หญิงกับผู้ชายแตกต่างกัน แตกต่างจากกฎหมายของประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาที่เพียงชายผู้เป็นสามีร่วมประเวณีกับหญิงอื่น แม้เพียงครั้งเดียวก็ถือเป็นเหตุหย่าได้แล้ว
การอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่น หมายถึงการใช้ความช่วยเหลือหญิงที่มิใช่ภรรยาตนในสิ่งจำเป็นแก่การดำชีพ ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินทองไว้จับจ่ายใช้สอย ให้เครื่องอุปโภคบริโภคหรือทรัพย์สินอื่นใดเพื่อเป็นปัจจัยในการดำรงชีพ และต้องเป็นการอุปการะเลี้ยงดูฉันภรรยา ทั้งนี้การเลี้ยงดูภรรยานั้นเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ลำพังเพียงการไม่อุปการะเลี้ยงดูคู่สมรสก็เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามมาตร ๑๕๑๖ ( ๖ ) อยู่แล้ว หากการไม่อุปการะเลี้ยงดูนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่คู่สมรสอีกฝ่ายเกินควร เมื่อคำนึงถึงสถาพ ฐานะ ความเป็นอยู่ร่วมกัน หรือแม้แต่การอุปการะเลี้ยงดูภรรยาหลวงและครอบครัวจะไม่ขาดตกบกพร่องไปเลยก็ตาม ภรรยาก็ยังสามารถฟ้องหย่าได้ ถือเป็นการลงโทษพฤติกรรมที่นอกลู่นอกทางของสามี
ส่วนการยกย่องหญิงอื่นฉันภรรยานั้น เกิดจากการที่คู่สมรสมีหน้าที่ที่ต้องซื่อสัตย์ต่อกัน จะไปยกย่องหญิงอื่นนอกจากภรรยาตนไม่ได้ การยกย่องได้แก่การแสดงออกของสามีไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าหญิงนั้นเป็นภรรยาของตน การยกย่องนี้อาจไม่ถึงขั้นต้องจดทะเบียนสมรส อาจเป็นการพาไป เที่ยวกับเพื่อน ๆ ของตน และแนะนำให้กับผู้บังคับบัญชาว่าหญิงนั้นเป็นภรรยาของตน หรือพาไหว้บิดา มารดา รวมถึงการพามาอยู่ในบ้านและอยู่กินกันฉันสามีภรรยา และยอมให้บุตรใช้นามสกุลของตน เป็นต้น เหตุสามียกย่องหญิงอื่นฉันภรรยานั้นสามารถแยกพิจารณาจากการอุปการะได้ กล่าวคือแม้สามีจะไม่ได้เลี้ยงดูหญิงอื่นเลยแต่หากมีพฤติกรรมยกย่องหญิงอื่นเช่นภรรยาแล้ว ก็สามารถฟ้องหย่าได้ และหากสามีเลี้ยงดูหญิงนั้นด้วยก็อาจถือเป็นข้อเท็จจริงประกอบว่าสามียกย่อง นอกจากนี้หญิงที่ได้รับการเลี้ยงดูหรือได้รับการ ยกย่องจะรู้หรือไม่รู้ว่าชายมีภรรยาหรือไม่ก็ตามไม่เป็นปัญหา เพราะกฎหมายถือเอาพฤติกรรมของสามี เป็นหลัก
และที่สำคัญการที่สามีอุปการะเลี้ยงดูชายอื่นไม่ว่าผู้ชายนั้นจะได้ผ่าตัดแปลงเพศแล้วหรือไม่ก็ ไม่ เป็นเหตุฟ้องหย่าตามกรณีข้างต้นนี้ เพราะชายแม้จะผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิงก็ยังถือว่าเป็นผู้ชายอยู่ตาม กฎหมายแต่กรณีนี้อาจถือได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงที่สามารถฟ้องหย่าได้เช่นกัน หรือในกรณีที่สามีแอบไปมีภรรยาน้อย โดยการซุกซ่อนปกปิดไม่ให้ใครรู้และไม่ได้ส่งเสียเลี้ยงดูภรรยาน้อยเลย ก็ให้ฟ้องหย่าโดยอ้างเหตุว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยากันอย่างร้ายแรง (การฟ้องอย่าด้วยเหตุอื่นนี้จะทำให้ภรรยาไม่สามรถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภรรยาน้อยได้ )
บทลงโทษของคนมีกิ๊ก
ผลของการฟ้องหย่าตามเหตุที่สามีไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภรรยา ยังทำให้ภรรยามีสิทธิได้รับคำตอบแทนจากสามีและจากหญิงอื่นด้วย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๒๓) ซึ่งภรรยาจะเรียกค่าทดแทนทั้งจากสามีและภรรยาน้อยได้ต่อเมื่อศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากสามี โดยต้องมีการฟ้องหย่าสามีและเรียกค่าทดแทนจากสามีและภรรยาน้อยในคดีฟ้องหย่านั้น หากเป็นการหย่าโดยความยินยอมแล้ว จะไม่สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนได้อีก ค่าทดแทนนี้ศาลจะกำหนดให้เป็นเงินก้อน โดยคำนึงถึงพฤติการณ์และฐานะทางสังคมของภรรยา แต่หากไม่อยากฟ้องหย่าสามี ภรรยาก็ยังสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภรรยาน้อยที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความ
สัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวได้เท่านั้น จะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากสามีไม่ได้ เช่นกรณีที่จำเลยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับสามีโจทก์ จนถึงขั้นสามีโจทก์ให้โจทก์ยอมรับจำเลยเป็นภรรยาน้อย มิฉะนั้นจะทิ้งโจทก์ และจำเลยตบหน้าสามีโจทก์ในร้านอาหารเพราะความหึงหวงต่อหน้าโจทก์ ทั้งสามีโจทก์และจำเลยจังได้ร่วมกันกู้เงินจากธนาคารมาสร้างหอพักในที่ดินจำเลย มีผู้รู้เห็นว่าสามีโจทก์มา หาและพักนอนอยู่ที่บ้านจำเลยหลายครั้ง พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามี ความสัมพันธ์ ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าตอบแทนจากจำเลย ตามมาตรา ๑๕๒๓ วรรค สอง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๑๔ / ๒๕๓๐ )
นอกจากนี้ ในกรณีที่สามีมีการจดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่น ถือเป็นการจดทะเบียนสมรส ซ้อน
ซึ่งการจดทะเบียนสมรสซ้อนในขณะที่มีคู่สมรสเดิมอยู่แล้วนั้นเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีล ธรรม อันดีของประชาชน เป็นการแย่งคู่สมรสของคนอื่น ก่อให้เกิดความแตกร้าวในครอบครัวผลของการ จดทะเบียนสมรสซ้อนนั้นเป็นโมฆะ กล่าวคือทะเบียนสมรสนั้นใช้ไม่ได้ ไม่มีผลตามกฎหมาย นอกจากภรรยา และฟ้องเรียกค่าทดแทนจากสามีและภรรยาคนที่สองได้แล้ว สามียังมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๗ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน โทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ( วิมลศิริ ชำนาญเวช , “ กฎหมายอาญาคุ้มครองผู้หญิงและเด็กในคดีเกี่ยวกับครอบครัวเพียงไร ,” วรสารนิติศาสตร์ , ปี่ที่ ๒๗ ฉบับที่ ๒ ( มิ . ย . ๒๕๔๐ ), หน้า ๓๗๑ )
ซึ่งโทษทางอาญานี้ลงโทษได้เฉพาะสามีเพียงคนเดียว ไม่สามารถลงโทษภรรยาน้อยได้ แต่ในประเทศญี่ปุ่นมีการกำหนดความผิดฐานสมรสซ้อนและจงใจแย่งคู่สมรสของบุคคลอื่นด้วย (Criminal Code, Art.184 “A married perhon, who contracts another marriage, shall be punished with penalservtube for not more that tuuo years. The same shall apply to the other party to the bigamous marriage.” )ผู้เขียนเชื่อว่าภรรยาหลวงหลายๆ ท่านคงอยากมีกฎหมายแบบนี้ในประมวลกฎหมายอาญาของไทยบ้าง
และหากสามีเป็นข้าราชการ การมีภรรยาน้อยนี้ยังถือเป็นความผิดวินัยอีกด้วย เพราะกฎหมายถือว่านอกใจภรรยาตนเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ถือเป็นการประพฤติมิชอบ เช่น ตามประราชบัญญัติวินัยทหาร พ . ศ . ๒๔๗๖ กำหนดให้การประพฤติตนไม่สมควรถือเป็นการกระทำผิดวินัยทหาร การประพฤติตนไม่สมควรนี้ต้องเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน และการประพฤติตนเช่นว่านั้นทำให้เสียเกียรติของความเป็นทหาร ซึ่งการมีกิ๊กหรือการมีภรรยาน้อยก็ถือเป็นการประพฤติตนไม่สมควรเช่นกัน แต่ก็มีภรรยาหลวงหลายท่านที่ไม่กล้าร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาสามี เพราะกลัวสามีฟ้องหย่าโดยอ้างเหตุว่าการทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของภรรยานั้น เป็นการประพฤติชั่วและสร้างความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงให้แก่สามี ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาไว้ว่าการที่ภรรยาร้องเรียนกล่าวโทษสามีต่อผู้บังคับบัญชาของสามี ว่าสามีไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่น และเป็นเหตุให้สามีถูกลงทัณฑ์ทางวินัยนั้น ไม่ถือว่าเป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุฟ้องอย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๖ ( ๒ ) เพราะภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีความชอบธรรมที่จะป้องกันขัดขวางมิให้สามีกับหญิงอื่นมี
ความสัมพันธ์กันอันเป็นเหตุให้ครอบครัวเดือดร้อน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๖๑ / ๒๕๓๔ และ คำพิพากษาฏีกาที่ ๓๑๐๒ / ๒๕๔๑ )
จากคำถามที่ผู้เขียนมักจะได้ยินเสมอว่าเมื่อสามีของดิฉันไปมีกิ๊ก ดิฉันควรทำอย่างไรในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักกฎหมายก็คงจะแนะนำในแง่ของกฎหมายที่คุ้มครอง ภรรยาหลวงแก่เพื่อนๆ พี่ๆ น้อง ผู้หญิงด้วยกัน แต่หากจะให้ฟันธงลงไปนั้นคงต้องขออนุญาต เพราะปัญหาครอบครัวก็ควรเป็นเรื่องในครอบครัวของคนสองคน ประกอบกับผู้เขียนเองก็ไม่ประสงค์จะให้ครอบครัวต้องแตกแยกเสมอไป ดังนั้น ข้อกฎหมายต่างๆ ในเรื่องการหย่าน่าจะเก็บไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย ถ้าหากวิธีการประนีประนอมอื่นๆใช้ ไม่ได้จริงๆ นอกจากนี้ยังไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายข้อไหนที่ให้อำนาจศาลตัดสินไม่ให้สามีเลิกยุ่งเกี่ยวกับ กิ๊ก เพราะความรู้สึกของคนเป็นเรื่องของจิตใจ กฎหมายย่อมไม่สามารถบังคับจิตใจคนได้ และหาก ความสัมพันธ์จะต้องจบลง ก็ควรที่จะจบแบบถูกต้อง การแก้ปัญหาแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ที่ได้พบเห็นอยู่เสมอตามหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง เช่น เมียสามราวีเมียสองโดนสวน ๙ มม . ทะลวงอก หรือลวงฆ่าโหดกิ๊กผัวดับ หรือหึงโหดสาวราชภัฎเหยื่อน้ำกรด หรือบรรดาคติสอนใจประจำบ้านที่ว่า เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร หรือรวมกันเราอยู่ ทิ้งหนูพี่ตาย นั้นไม่น่าจะนำมาถูกใช้อีก เพราะผลเสียที่ตามมานั้นมันไม่คุ้ม ถ้าอยู่กัน ไม่ได้จริงๆ หรือ “ กิ๊ก ” มีอิทธิพลมากเหลือเกิน ก็น่าลองเปลี่ยนมาใช้แนวคิดที่ว่า ได้ค่าทดแทนสักยี่สิบ ล้าน จะเอาสามีใส่พานไปให้เลยน่าจะดีกว่า